top of page
Search
  • Writer's pictureLivestockNews+

ภาวะเครียดจากความร้อน (Heat Stress) ส่งผลต่อสุขภาพลำไส้ (Gut health) ในสุกรได้อย่างไร

ภาวะเครียดจากความร้อน (Heat Stress) คือการตอบสนองของตัวสัตว์เมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อุณหภูมิสูงเกินระดับที่เหมาะสมในการดำรงชีวิตตามปกติ (Thermoneutral zone) ซึ่งผลที่ตามมาจากการตอบสนองนั้นจะทำให้สุขภาพของสัตว์และประสิทธิภาพการผลิตลดลง

โดยเฉพาะในสุกรซึ่งเป็นสัตว์ที่มีระบบการระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ไม่ดีนักเมื่อเปรียบเทียบกับมนุษย์ เพราะมนุษย์มีต่อมเหงื่อที่สามารถระบายความร้อนออกมาในรูปแบบของเหงื่อ และระเหยกลายเป็นไอได้ (Evaporation) แต่สำหรับสุกรแล้วไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ดังนั้นสุกรจึงต้องอาศัยกระบวนการอื่นๆ เพื่อระบายความร้อนออกจากตัว


วิธีที่ได้ผลดีที่สุดในการลดการสร้างความร้อนขึ้นในตัวสุกรในภาวะที่ต้องอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่อุณหภูมิสูงคือ “ลดการกินอาหาร” เพื่อลดกระบวนการเมตาบอลิซึมในการย่อยอาหาร ซึ่งจะทำให้ลดการสร้างความร้อนเพิ่มในตัว แต่ผลที่ตามมาจากการที่สุกรลดการกินอาหารก็จะทำให้อัตราการเจริญเติบโตลดลงด้วยเช่นกัน มีรายงานจากประเทศบราซิลพบว่าสุกรที่มีน้ำหนักตัวระหว่าง 60-100 กิโลกรัม จะมีอัตราการเจริญเติบโตลดลง 15% ในฤดูร้อนเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการเจริญเติบโตในฤดูหนาว ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะในช่วงฤดูร้อนจะมีอัตราการกินอาหาร (Feed intake) ต่ำกว่าในช่วงฤดูหนาวนั่นเอง

และเนื่องจากสุกรไม่สามารถระบายความร้อนออกมาทางเหงื่อได้ วิธีการที่สุกรใช้ระบายความร้อนอีกวิธีหนึ่งคือ “การหอบ” เป็นการเร่งอัตราการหายใจเพื่อระบายความร้อนออกจากร่างกาย ซึ่งผลที่ตามมาก็จะทำให้สุกรไม่อยากกินอาหาร เพราะไม่อยากจะสร้างความร้อนเพิ่มขึ้นภายในตัว ส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตลดลงตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น


อีกวิธีหนึ่งที่สุกรใช้ระบายความร้อนออกจากร่างกาย คือ การแผ่รังสีความร้อน (Radiation)โดยการเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปสู่ผิวหนังและอวัยวะส่วนปลายมากขึ้น แล้วหลังจากนั้นสุกรจะแผ่รังสีความร้อนออกสู่สิ่งแวดล้อม สังเกตดูเวลาอากาศร้อนจัดสุกรจะตัวแดงและมักนอนหมอบและหอบหายใจแรง เพื่อระบายความร้อนผ่านทางผิวหนังไปสู่พื้น และหอบเอาความร้อนออกทางการหายใจ ผลจากการเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังผิวหนังทำให้มีปริมาณเลือดไหลเวียนไปยังอวัยวะภายในลดลง โดยเฉพาะอย่างอย่างยิ่งอวัยวะของระบบสืบพันธุ์และลำไส้ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการผลิตลดลง เช่น ในส่วนของระบบสืบพันธุ์จะทำให้อัตราการผสมติดและขนาดครอกลดลง ในส่วนของลำไส้จะทำให้ความแข็งแรงของลำไส้ลดลง เนื่องจากโปรตีนที่ทำหน้าที่ปกป้องตนเองของลำไส้ (Intestinal barrier) อ่อนแอลงอันเนื่องมาจากการได้รับสารอาหารต่างๆ ลดน้อยลงจากการที่เลือดไหลเวียนมาที่ลำไส้ลดน้อยลงในภาวะที่สุกรเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัดนั่นเอง


การกินอาหารลดลงและการที่เลือดไหลเวียนมาที่ลำไส้ลดลง ทำให้เซลล์ที่เยื่อบุผิวลำไส้ (Enterocytes) ได้รับอ็อกซิเจนและสารอาหารต่างๆ ลดลงด้วย ส่งผลให้การทำหน้าที่ของเซลล์นั้นลดลงด้วยเช่นกัน ผลที่เกิดขึ้น คือ วิลไลจะหดสั้นลง ประสิทธิภาพในการย่อยและดูดซึมอาหารลดลง โปรตีนที่ทำหน้าที่ปกป้องตนเองของลำไส้ (Intestinal barrier) อ่อนแอลง ทำให้สารพิษและเชื้อโรคต่างๆ ผ่านเข้าสู่ร่างกายสุกรได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้สุกรมีสุขภาพแย่ลงและอัตราการเจริญเติบโตก็ลดลงตามมา ผลกระทบดังกล่าวที่เกิดขึ้นที่บริเวณลำไส้นี้คือภาวะลำไส้อักเสบ (Gut inflammation) อันเนื่องมาจากสภาพอากาศร้อนจัด


แล้วเราจะลดผลกระทบจากภาวะเครียดจากความร้อน (Heat stress) ได้อย่างไร

การจัดการเรื่องการระบายอากาศภายในโรงเรือนเป็นมาตรการสำคัญในการลดผลกระทบดังกล่าว โดยเฉพาะถ้าฟาร์มเลี้ยงสุกรด้วยระบบโรงเรือนแบบเปิด ซึ่งมักได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศร้อนจัดมากกว่าระบบโรงเรือนแบบปิด สำหรับการจัดการโรงเรือนสุกรแบบเปิดเพื่อลดผลกระทบจากความร้อนนั้น โครงสร้างของโรงเรือนควรสูงโปร่ง มีระบบน้ำหยด และมีการติดพัดลมเพื่อช่วยระบายอากาศออกจากโรงเรือน และควรมีกันสาดไม่ให้แสงแดดส่องเข้ามายังตัวสุกรได้โดยตรง (รูปที่ 1)


รูปที่ 1แม่สุกรอุ้มท้องนอนตากแดดอยู่ในซองยืนไม่สามารถหลบไปไหนได้ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ขนาดครอก

ของแม่สุกรลดลง เพราะตัวอ่อนในท้องมีโอกาสตายมากขึ้นเนื่องจากผลกระทบจากความร้อน ลักษณะอาการที่สังเกตได้อีกอย่างหนึ่งว่าตอนนี้สุกรกำลังเผชิญกับภาวะอากาศร้อน และกำลังปรับสภาพร่างกายตัวเองเพื่อให้ตัวเองรู้สึกเย็นสบายขึ้น คือ การลงไปเล่นในส้วมน้ำมากขึ้น ซึ่งจะทำให้คอกชื้นแฉะ ตัวสุกรเปรอะเปื้อนมากขึ้น (รูปที่ 2) เมื่อเราเห็นลักษณะอาการแบบนี้ เราควรรีบตรวจสอบและแก้ไขระบบการระบายอากาศ ร่วมกับการล้างทำความสะอาดคอกและอาบน้ำให้สุกรในช่วงบ่าย เพื่อช่วยลดความร้อนให้สุกรด้วยอีกทางหนึ่ง


รูปที่ 2 แสดงลักษณะสุกรตัวเปรอะเปื้อน คอกชื้นแฉะ หลังจากที่สุกรลงไปเล่นในส้วมน้ำมากขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศร้อน

นอกจากนั้นการจัดการทางด้านอาหารก็มีส่วนช่วยลดผลกระทบนี้ได้เช่นกัน โดยพบว่าสารสกัดที่เป็นอัลคาลอยด์ (Alkaloids) กลุ่มที่ชื่อว่า Isoquinoline alkaloids (IQ) ที่ได้จากพืชที่ชื่อว่า Macleaya cordata มีคุณสมบัติในการช่วยลดการอักเสบที่ลำไส้ ส่งเสริมให้ลำไส้มีความแข็งแรงมากขึ้น ทำให้ลำไส้มีความสามารถในการย่อยและดูดซึมสารอาหารได้มากขึ้น ส่งผลให้สุกรมีสุขภาพแข็งแรงและมีประสิทธิภาพการผลิตดีขึ้น


มีงานทดลองจากมหาวิทยาลัยเมลเบริ์น (University of Melbourne) ประเทศออสเตรเลีย โดยการใส่ผลิตภัณฑ์ที่มีสารออกฤทธิ์เป็นอัลคาลอยด์ (IQ) ที่ชื่อว่าSangrovit®Extra จากบริษัทไฟโตไบโอติกส์ ปริมาณ 150 ppm ลงในอาหารสุกรอนุบาลเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อดูผลเรื่องความแข็งแรงของลำไส้โดยการดูปริมาณโปรตีน Tight junction ที่ทำหน้าที่เป็นตัวปกป้องตนเองของลำไส้ (Intestinal barrier) และดูการตอบสนองด้านอื่นๆ ของสุกรร่วมด้วย


ผลปรากฏว่าสุกรกลุ่มที่ได้รับสารIQ จะมีอัตราการหอบหายใจน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับสาร IQอย่างมีนัยสำคัญ (P = 0.013) และมีอุณหภูมิร่างกายที่วัดทางก้น(Rectal temperature) ต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน (P = 0.001) และที่สำคัญกลุ่มที่ได้รับ IQ จะมีปริมาณของโปรตีนTight junctionที่บ่งบอกถึงความแข็งแรงของลำไส้ มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย (รูปที่ 3)


รูปที่ 3 แสดงผลเปรียบเทียบระหว่างสุกรกลุ่มที่ได้รับและไม่ได้รับสาร IQ พบว่าสุกรกลุ่มที่ได้รับสาร IQ จะมีปริมาณโปรตีน Tight junction มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ

ผลกระทบจากภาวะเครียดจากความร้อน (Heat stress) นั้นสร้างความเสียหายให้แก่ลำไส้ ทำให้เกิดภาวะลำไส้อักเสบ (Gut inflammation) และส่งผลต่อสุขภาพและประสิทธิภาพการผลิตตามมา การจัดการเรื่องการระบายอากาศภายในโรงเรือนอย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมกับการจัดการด้านอาหารด้วยการเสริมสารที่ส่งเสริมสุขภาพของลำไส้ (Gut health)ก็จะสามารถลดผลกระทบจากภาวะดังกล่าว อันจะนำไปสู่การส่งเสริมให้สุกรมีสุขภาพและประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้นได้นั่นเอง -“สุกรจะเติบโตได้อย่างแข็งแรงและสุขภาพดี เกิดจากการจัดการดูแลที่มีประสิทธิภาพ มิได้เป็นมาโดยกำเนิด”





แปลเรียบเรียงโดย น.สพ. ชวลิต บัวใหญ่ - ผู้จัดการฝ่ายวิชาการ บริษัท ไฟโตไบโอติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด


10 views0 comments
bottom of page