LivestockNews+
คาดการณ์ ตลาดส่งออกเนื้อไก่ไทย ปี 2562
Updated: May 12, 2019
ในปี 2561 อุตสาหกรรมไก่เนื้อไทยส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ ได้กว่า 8.2 แสนตัน มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท เป็นผลจากประเทศผู้นำเข้าหลักทั้ง ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ และจีน หันมาสั่งซื้อสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ในปี 2562 คาดว่า มูลค่าการส่งออกน่าจะเกิน 1.1 แสนล้านบาท

ในปี2562 คาดว่าการส่งออกเนื้อไก่รวมมีปริมาณ 850,000 ตัน มูลค่า 105,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปริมาณ 820,000 ตัน มูลค่า101,000 ล้านบาท ของปี2561 ประมาณ 3.66 เปอร์เซ็นต์ และ3.96เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ
โดยแยกเป็นการส่งออกไก่สดแช่แข็งปริมาณ300,000 ตัน มูลค่า27,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปริมาณ280,000 ตัน มูลค่า25,000 ล้านบาท ของปี2561 ประมาณ7.14 เปอร์เซ็นต์ และร้อยละ8.00 ตามลำดับ และเป็นการส่งออกเนื้อไก่แปรรูปปริมาณ550,000ตัน มูลค่า78,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปริมาณ540,000 ตัน มูลค่า76,000 ล้านบาท ของปี2561 เท่ากับ 1.85 เปอร์เซ็นต์ และประมาณ2.63 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

คุณคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เปิดเผยกับ Livestock+ว่า ในปี 2562 ทางสมาคมฯ ซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าไก่รายใหญ่ของประเทศ คาดจะสามารถส่งออกได้ที่ 9 แสนตัน มูลค่า 1.10 แสนล้านบาท หรือ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.8% และ0.9% ตามลำดับ
โดยในส่วนของปัจจัยบวก ได้แก่ ตลาดเกาหลีใต้ยังมีการนำเข้าต่อเนื่อง โดยในปี 2561 เกาหลีนำเข้าจากไทย 3 หมื่นตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่นำเข้า 2.4 หมื่นตัน หรือ เพิ่มขึ้น 6,000 ตัน,

ตลาดจีน ที่ในปีที่ผ่านมาได้ประกาศรับรองโรงงานผลิตและแปรรูปเนื้อไก่ของไทย 7 โรงงาน (CPF 2 โรงงาน, F&F Food 1 โรงงาน, GFPT 1 โรงงาน, สหฟาร์ม 1 โรงงาน, Goldenline 1 โรงงาน และ Thai Foods Group 1 โรงงาน) ทำให้สามารถส่งออกเนื้อไก่ไปสู่ผู้บริโภคชาวจีนได้เป็นครั้งแรก
ในปีนี้ จีนจะมาตรวจรับรองโรงงานไก่ไทยอีก (ไทยมีโรงงานผลิตและแปรรูปไก่ 27 โรงงาน) จะช่วยเพิ่มยอดส่งออกไปจีนได้เพิ่มขึ้น เป็นผลจากจีนแบนสินค้าไก่จากสหรัฐฯ จากปัญหาไข้หวัดนก และจีนยังใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) สินค้าไก่จากบราซิลที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไก่และเกษตรกรในประเทศ
ส่วนอียูแบน 20 โรงงานไก่ของบราซิล จากมีเชื้อโรคปนเปื้อน ขณะที่ เกาหลีที่เคยนำเข้าสินค้าไก่จากไทยก่อนเกิดไข้หวัดนกในปี 2547 ปริมาณต่อปีถึง 4 หมื่นตัน เวลานี้ก็กลับมานำเข้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เหล่านี้ถือเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกไก่ไทยในปีนี้

ปัจจัยลบ ที่ต้องจับตามอง คือ การถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป (อียู) ของอังกฤษ หรือ เบร็กซิท ที่อียู 27 ประเทศ และอังกฤษ อยู่ระหว่างเจรจาจัดสรรโควตาภาษีให้สินค้าไก่จากทั่วโลก ซึ่งรวมทั้งไทยใหม่ (ที่ผ่านมา ไทยได้รับโควตาภาษีนำเข้าสินค้าไก่ในอัตราตํ่า หรือเป็น 0 เปอร์เซ็นต์ จากอียู ปริมาณ 2.7 แสนตัน โดยมีตลาดอังกฤษเป็นตลาดใหญ่สุด)
“ต้องติดตามว่า เมื่อรวมกันแล้ว ทั้ง 2 ฝ่าย จะยังให้โควตาไทยในปริมาณเท่าเดิมหรือลดลงหรือไม่ และอีกปัจจัย คือ ไก่จากบราซิลจะกลับมาส่งออกไปยังจีนและอียูได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ ขณะที่ค่าเงินของคู่แข่งที่อ่อนตัวลงมาก กับราคาวัตถุดิบอาหารไก่เนื้อ โดยเฉพาะข้าวโพดที่ขยับขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 10 บาท ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของไทยสูงขึ้น และอาจแข่งขันในตลาดโลกได้ยาก”คุณคึกฤทธิ์กล่าว
