top of page
Search
  • Writer's pictureLivestockNews+

ณครฟาร์ม เลี้ยงโคนมมีรายได้หลักแสน ต้นแบบวิถีชีวิตพอเพียง

Updated: May 23, 2019


คุณนคร กาบขุนทุด

ณครฟาร์ม ฟาร์มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมต้นแบบ พลิกชีวิตอดีตพนักงานประจำผู้หันหลังให้เมืองกรุง หันมาประกอบอาชีพเลี้ยงโคนม เพราะเล็งเห็นว่า เป็นอาชีพสร้างรายได้ทุกวัน แม้ว่าจะไม่มีประสบการณ์มาก่อน ส่งผลให้เกิดความเสียหายในช่วงเริ่มต้น แต่ไม่ย่อท้อ ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม รับคำแนะนำจากสัตวแพทย์ในพื้นที่มาปรับใช้ เน้นหลักบริหารจัดการฟาร์มตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ผลิตพืชอาหารสัตว์ และอาหาร TMR ใช้เองภายในฟาร์ม เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต โคนมมีสุขภาพดี ให้ผลผลิตสูง สร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวด้วยรายได้เดือนละกว่าแสนบาท


คุณนคร กาบขุนทุด เจ้าของ “ณครฟาร์ม” อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ LivestockNews+ว่า เดิมประกอบอาชีพเป็นพนักงานประจำตำแหน่งช่างอิเล็กทรอนิกส์มานานกว่า 10 ปี จนรู้สึกอิ่มตัว และต้องการกลับมาอยู่บ้านและทำเกษตร ด้วยทางครอบครัวทำพืชไร่อยู่แล้วก็ตัดสินใจลาออกมาช่วย แต่ก็ยังเห็นว่าเป็นอาชีพที่มีรายได้เพียงปีละครั้ง และลงทุนสูงค่อนข้างไม่คุ้มค่ากับการลงทุนลงแรง จึงมองหาอาชีพเกษตรอื่นๆ โดยหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ทและได้สนใจการเลี้ยงโคนม เนื่องจากเป็นอาชีพพระราชทาน สร้างรายได้ทุกวัน และภาพลักษณ์ของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมยังดูดีอีกด้วย


ประกอบกับขณะนั้น สหกรณ์โคนมด่านขุนทด ได้เริ่มก่อตั้งและดำเนินกิจการรวบรวมน้ำนมดิบ และประกาศรับสมาชิกเพิ่ม ในปี 2558 จึงตัดสินใจ ใช้เงินกว่า 600,000 บาท ลงทุนสร้างโรงเรือนเลี้ยงโคนม และซื้อโคสาวท้องมาเลี้ยงจำนวน 7ตัว โดยเลี้ยงตามวิธีที่หาข้อมูลมาจากอินเตอร์เน็ทมาประยุกต์กับการสอบถามเกษตรกรรายอื่น กลายเป็นรูปแบบการเลี้ยงที่ตนเองเข้าใจ โดยเลี้ยงโคนมแบบธรรมชาติ เน้นการให้กินอาหารหยาบเป็นหญ้าสด เพราะ “โคนมต้องคู่กับหญ้า” ช่วยให้โคมีสุขภาพดี ลดต้นทุนการผลิต และได้น้ำนมคุณภาพ



“การเลี้ยงโคนมแบบธรรมชาติ สิ่งสำคัญ คือ การจัดการอาหาร โดยฟาร์มเน้นผลิตอาหารโคนมด้วยการปลูกหญ้าเนเปียร์ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นแห่งอาหารหยาบ พร้อมกับใช้เปลี่ยนมาใช้อาหารผสมสำเร็จ หรือที่เรียกว่า อาหาร TMR เลี้ยงโคนมแทน โดยเริ่มทดลองจากโค 2 ตัวก่อน ก็พบถึงความแตกต่าง เนื่องจากโคกินอาหารได้ดี ไม่มีอาการเบื่ออาหาร สุขภาพแข็งแรง คะแนนร่างกายดี จึงเพิ่มมาใช้อาหาร TMR กับแม่โค 50 เปอร์เซ็นต์ของฟาร์ม ก่อนใช้อาหาร TMR ทั้งหมด” คุณนครกล่าว



รถตัดหญ้าและเครื่องผสมอาหาร TMR

“TMR” มาจาก Total mixed ration หรือ Complete Ration (CR) หรืออาหารผสมสำเร็จรูปที่ผลิตขึ้นมาจากการนำอาหารหยาบ และอาหารข้นมาผสมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสม โดยต้องคำนวณสัดส่วนของอาหารทั้ง 2 ชนิด จากน้ำหนักแห้งให้ได้ตามความต้องการแล้วนำไปเลี้ยงโคนมแทนการเลี้ยงแบบเดิมซึ่งแยกการให้อาหารหยาบ และอาหารข้น เช่น ในโคนมผู้เลี้ยงให้อาหารหยาบตลอดทั้งวันแบบให้กินเต็มที่ และให้อาหารข้นเสริมวันละ 1-2 ครั้งต่อวันขณะรีดนม


“หลังจากผมเปลี่ยนวิธีให้อาหารเลี้ยงโคนม ด้วยการใช้อาหาร TMR ทั้งหมด ช่วยให้ประสิทธิภาพการผลิตดีขึ้น โคนมในฟาร์มมีสุขภาพแข็งแรง ให้ผลผลิตดีเฉลี่ย 18-20 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน มากกว่าช่วงที่ใช้อาหารข้นที่ได้น้ำนมเฉลี่ย 15-16 กิโลกรัมต่อวันต่อวัน ขณะที่ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าค่อนข้างมาก เนื่องจากวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตอาหารTMR ทั้งหญ้าสด และข้าวโพดปลูกเอง มีเพียงกากถั่วเหลือง ถั่วอบ กากมอลต์ เปลือกมัน และแร่ธาตุที่ซื้อเข้ามา อีกทั้งยังแบ่งสูตรอาหารให้เหมาะสมกับโคแต่ละระยะ ช่วยให้โคมีสุขภาพดี ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ให้น้ำนมดีและมีคุณภาพ” คุณนครกล่าว


ปัจจุบันฟาร์มมีโคนมทั้งหมด 44 ตัว เป็นโครีดนม 22 ตัว ที่เหลือเป็นโครุ่น โคดราย และลูกโค ผลิตน้ำนมดิบเฉลี่ยวันละ 400 กิโลกรัม โดยฟาร์มมีพื้นที่ทั้งหมด 25 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกหญ้าเนเปียร์และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 10 ไร่ พื้นที่ปลูกข้าว 10 ไร่ และพื้นที่ฟาร์ม 5 ไร่ ซึ่งหญ้าเนเปียร์ส่วนหนึ่งทำการตัดสดเป็นอาหารหยาบให้โคกิน ส่วนข้าวโพดตัดสับละเอียดทำเป็นข้าวโพดหมักไว้เป็นส่วนประกอบของอาหาร TMR มีรถตัดหญ้า และเครื่องผสมอาหาร TMR ไว้ใช้ในฟาร์ม นอกจากนี้ยังมีแผงโซลาเซลสำหรับเดินเครื่องสูบน้ำรดแปลงหญ้าและข้าวโพด ส่วนนาข้าวปลูกไว้บริโภคในครัวเรือน และเก็บฟางไว้เป็นอาหารหยาบเสริม


ฟาร์มแบ่งโคนมออกเป็น โคนมมาก โคนมปานกลาง โคนมน้อย โคดราย โครุ่น และลูกโค เพื่อสะดวกต่อการจัดการและให้อาหาร เพราะโคแต่ละระยะจะให้อาหาร TMR ที่แตกต่างกัน เพื่อให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิต ซึ่งโคนมมาก ส่วนใหญ่เป็นโคคลอดใหม่ ให้น้ำนมเฉลี่ยเกิน 25 กิโลกรัมต่อวัน โคนมกลางให้นมเฉลี่ย 20-25 กิโลกรัมต่อวัน และโคนมน้อยให้นมเฉลี่ยต่ำกว่า 20 กิโลกรัมต่อวัน


อาหาร TMR

ขณะที่โรงเรือนเลี้ยงโคต้องมีหลังคาสูง ปลอดโปร่ง อากาศถ่ายเทได้ดี เน้นการแบ่งพื้นที่ให้อาหาร พื้นที่ขับถ่าย ออกจากพื้นที่นอน ป้องกันไม่ให้โคนอนทับมูล ลดปัญหาเต้านมอักเสบ ช่วยให้น้ำนมดิบมีคุณภาพดี ส่วนการจัดการในช่วงเช้าก็จะให้อาหาร TMRก่อนทำการรีดนม มีการทำความสะอาดเต้านมโคแต่ละตัวก่อนรีด และตรวจคุณภาพน้ำนมดิบก่อนรีดทุกครั้ง รีดนมวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น (ประมาณ 15.00 น.) น้ำนมดิบทั้งหมดจะส่งให้กับสหกรณ์โคนมด่านขุนทดทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ยเดือนละกว่าแสนบาท


“ทุกวันนี้มีความสุขกับอาชีพการเลี้ยงโคนมเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากมีรายได้ที่มั่นคงแล้ว ยังช่วยให้ได้อยู่กับครอบครัว ซึ่งในอนาคตวางแผนเพิ่มพื้นที่ปลูกหญ้าและข้าวโพดให้เพียงพอกับความต้องการของโคนมในฟาร์ม แต่ไม่เน้นการเพิ่มปริมาณโค เพราะหากเลี้ยงมากกว่านี้อาจจะดูแลได้ไม่ทั่วถึง เนื่องจากตนและภรรยาดูแลจัดการเองทั้งหมด ไม่ได้จ้างแรงงาน ส่วนผู้ที่สนใจในอาชีพการเลี้ยงโคนม ควรศึกษาหาความรู้เบื้องต้นก่อน และหากสนใจจริงๆ ควรเข้าอบรมหลักสูตรการเลี้ยงโคนม เพื่อให้มีความรู้พื้นฐานก่อนเริ่มเลี้ยง และควรเริ่มจากโคจำนวนน้อยๆ เพื่อทำความเข้าใจกับโคนมก่อน หลังจากมีประสบการณ์และความชำนาญแล้วจึงขยายไปในระดับที่ตนเองบริหารจัดการได้ จะช่วยลดความเสี่ยงและสร้างรายได้ที่มั่นคงต่อไป” คุณนครกล่าว



42 views0 comments
bottom of page