top of page
Search
  • Writer's pictureLivestockNews+

อนาคตธุรกิจสุกรไทย ใครจะรอดพ้น โรค ASF ?

โรค ASF ในสุกร (African Swine Fever) หรือ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เป็นโรคระบาดรุนแรงในสุกรที่ไม่ติดต่อสู่คน ไม่ติดสัตว์ชนิดอื่น โรคจะเกิดเฉพาะในสุกรเท่านั้น โรคนี้ไม่มีวัคซีนป้องกัน ไม่มียารักษา เชื้อโรคมีความรุนแรง และรวดเร็ว สุกรที่ได้รับเชื้อจะป่วย และตายร้อยเปอร์เซ็นต์ และเป็นพาหะแพร่ระบาดโรค คุณสมบัติของเชื้อไวรัส ASF ในสุกรนี้มีความทนทานสูง ทำลายยาก เชื้ออยู่ในเลือด สารคัดหลั่ง เนื้อ อวัยวะทุกส่วน ของเสีย หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสุกรทุกชนิด หากเชื้อปนเปื้อนอยู่ในสภาพแวดล้อม ก็สามารถแพร่กระจายไปด้วยพาหะนำพาได้


ปัจจัยที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ คน คนที่เกี่ยวข้องกับฟาร์มสุกร ทั้งเกษตรกรเจ้าของฟาร์ม พนักงาน สัตวบาล สัตวแพทย์ผู้ดูแลฟาร์ม รถขนส่ง โดยเฉพาะรถจับสุกรจากฟาร์มไปยังโรงฆ่า รถขนส่งอาหาร รถที่เกี่ยวข้องระหว่างฟาร์มต่อฟาร์ม ตลอดจนวัตถุดิบอาหารสัตว์  และสัตว์พาหะ เป็นต้น



ผศ.น.สพ.คัมภีร์ กอธีระกุล​

ผศ.น.สพ.คัมภีร์ กอธีระกุล ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุกรจีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า สถานการณ์ โรค ASF ในสุกร ปัจจุบันแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและขยายประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับจากประเทศจีนประกาศพบการระบาดของโรค ASF ในสุกร ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 จนถึงวันนี้เป็นระยะเวลาประมาณ 14 เดือน โรคนี้ได้ระบาดโดยทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาเซียน โดยประเทศที่พบการระบาด ได้แก่ ติมอร์เลสเต ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ เกาหลีเหนือ จีน เวียดนาม กัมพูชา ลาว และเมียนมาร์ โดยขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ประกาศพบการระบาดของโรค ASF ในสุกร


โรค ASF ในสุกร หากระบาดในประเทศใดจะมีผลกระทบอย่างหนัก สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจชาติทั้งทางตรง และทางอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการผลิตสุกร คาดการณ์ความเสียหายมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ยังไม่รวมถึงผลกระทบด้านสังคม และความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ ด้วยเหตุนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างให้ความร่วมมือช่วยเหลือกันเฝ้าระวังโรค


วิธีที่ได้ผลที่สุดในการป้องกันโรคขณะนี้ คือ การเข้มงวดใช้มาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือ ระบบไบโอซีเคียวริตี้ (Biosecurity) ป้องกันโรคไม่ให้เข้าสู่ระบบฟาร์มสุกร ป้องกันความเสี่ยง ขจัดจุดอ่อน ช่องโหว่ที่เป็นช่องทางความเสี่ยง เพื่อไม่ให้เกิดการเล็ดรอดของเชื้อโรค ASF ในสุกร เข้ามาสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจฟาร์มสุกรของไทย



จุ่มน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้งก่อนเข้าโรงเรือนอย่างเคร่งครัด มาตรฐานระบบ Biosecurity

ตั้งแต่ประเทศจีนประกาศการเกิดโรค ASF ในสุกร ซึ่งไทยได้เห็นความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงระดมสมองทุกภาคส่วนแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจ เพื่อหาแนวทางเฝ้าระวังป้องกันโรค สร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องของความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือ ระบบไบโอซีเคียวริตี้ให้กับสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ เกษตรกรเจ้าของฟาร์ม และผู้ปฏิบัติงานฟาร์ม เพื่อปรับปรุงมาตรฐานฟาร์มให้มีความปลอดภัย และรัฐบาลได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีกรมปศุสัตว์เป็นผู้ดูแล


กรมปศุสัตว์ ใช้นโยบายการป้องกัน และควบคุมโรค เน้นหลักวิธี “รู้โรคเร็ว ควบคุมโรคเร็ว โรคสงบเร็ว” โดยใช้มาตรการประกาศเขตเฝ้าระวังโรคในจังหวัดหรือพื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้ทำงาน ได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วในการควบคุมโรค


ปัจจุบันประเทศไทยประกาศเขตเฝ้าระวังโรค 27 พื้นที่ โดยแบ่งเป็น 22 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ : เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) : เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ ภาคตะวันออก : สระแก้ว จันทบุรี และตราด ภาคตะวันตก : ราชบุรี ภาคใต้ : ระนอง และประจวบคีรีขันธ์


จังหวัดประกาศเป็นเขตเฝ้าระวังบางส่วน (5 จังหวัด) ได้แก่ ตาก (5 อำเภอ) : อุ้มผาง แม่สอด ท่าสองยาง แม่ระมาด และพบพระ, พิษณุโลก (2 อำเภอ) :ชาติตระการ และนครไทย, เพชรบุรี (2 อำเภอ) : หนองหญ้าปล้อง และแก่งกระจาน, กาญจนบุรี (5 อำเภอ) : สังขละบุรี ทองผาภูมิ ไทรโยค เมืองกาญจนบุรี และด่านมะขามเตี้ย และ ชุมพร (1 อำเภอ) : ท่าแซะ


“วิธีการนี้ถือว่าเป็นการเฝ้าระวังที่ถูกต้อง ทั้งทางยุทธศาสตร์ และเป็นความถูกต้องที่ควรทำ การประกาศเขตเฝ้าระวังโรคพิจารณาแล้วเป็นเรื่องที่ดี เป็นการปิดจุดเสี่ยงไม่ให้สุกรจากพื้นที่ชายแดน หรือพื้นที่เสี่ยงให้กระจายออกไปยังพื้นที่อื่น โดยเฉพาะสุกรจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งมีชีวิต และผลิตภัณฑ์ การหยุดความเคลื่อนไหวตรงนี้เท่ากับว่าเป็นการหยุดเชื้อโรค ชะลอโรคไม่ให้เข้ามาสร้างความเสียหาย” ผศ.น.สพ.คัมภีร์กล่าว


ผศ.น.สพ.คัมภีร์กล่าวต่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากการประกาศเขตเฝ้าระวังโรค คือ เจ้าของฟาร์มสุกรรายใหญ่เกิดความตื่นตัว ให้ความสำคัญกับระบบไบโอซีเคียวริตี้ของฟาร์มตัวเอง และมีจิตสาธารณะเผื่อแผ่สังคม เมื่อตระหนักถึงปัญหาของโรค ASF ในสุกร และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นหากเกิดกับฟาร์มเกษตรกรรายย่อย รายเล็ก ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง จะสร้างความเดือดร้อน และทำให้ฟาร์มตัวเองเสียหายไปด้วย เพราะหากพบการระบาดของโรคในฟาร์มใด ในพื้นที่นั้นจะถูกประกาศเป็นเขตควบคุมโรค ทำให้ฟาร์มไม่สามารถขนย้าย หรือขายหมูได้


ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือ ระบบไบโอซีเคียวริตี้ วันนี้คือ คำตอบ ที่จะช่วยให้ฟาร์มรอดพ้นวิกฤตโรค ASF ในสุกร หากฟาร์มปรับระบบให้ได้มาตรฐาน และมีมาตรการจัดการที่รัดกุม โอกาสอยู่รอดปลอดภัยมีความเป็นไปได้สูง โดยเจ้าของฟาร์มทำงานหนักป้องกันพื้นที่ตัวเองไม่ให้มีโรคเข้ามาในฟาร์ม นอกฟาร์มก็มีเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์คอยช่วยเหลือจัดการ เฝ้าระวังโรค เคลียร์ปัญหา และจุดเสี่ยง ช่วยป้องกันควบคุมโรคไม่ให้เข้ามาในระบบฟาร์ม



จุดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ


ประกาศเขตเฝ้าระวัง ! มี หรือ ไม่มี โรค ASF ในสุกร ?

“หลายคนอาจสงสัย ประเด็นการประกาศเขตเฝ้าระวังโรค ASF ในสุกร มีข้อซักถามว่า จริงแล้วพื้นที่ที่ประกาศนั้นเกิดโรค ASF ในสุกรหรือไม่ เป็นสิ่งที่น่าฉงน สงสัย ตรงนี้ผมคิดว่าขอให้เราเชื่อตามการประกาศของกรมปศุสัตว์ ถ้าพื้นที่ที่รัฐบาลประกาศให้เป็นเขตเฝ้าระวังโรคนั้นไม่พบว่ามีไวรัส หรือ เป็นโรค ASF ในสุกร ถ้ารัฐบาลบอกว่าไม่มีไวรัสเราก็ต้องเชื่อ เพราะการประกาศของกรมปศุสัตว์ถือเป็นสำคัญ กรมปศุสัตว์เป็นแม่ทัพ ในการดูแลจัดการเฝ้าระวังป้องกันโรคไม่ให้เข้าไปสร้างความเสียหายในฟาร์ม และเพื่อให้ทำงานไปในทิศทางเดียวกัน


การประกาศเขตเฝ้าระวังโรค ASF ในสุกร เป็นการเสริมสร้างความปลอดภัย เป็นการสกัดกั้น ตรวจสอบ เพื่อป้องกันไม่ให้มีสุกรเล็ดลอดจากชายแดนหรือจากพื้นที่ความเสี่ยงเข้ามายังพื้นที่ยุทธศาสตร์ เช่น จังหวัดนครปฐม มีการเลี้ยงหนาแน่น มีโรงฆ่าจำนวนมาก เป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าทั่วประเทศ หากเกิดปัญหาเชื้อโรคจะแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้รวดเร็ว มาตรการนี้ถือว่าดีและรอบคอบมาก” ผศ.น.สพ.คัมภีร์กล่าว


ผศ.น.สพ.คัมภีร์กล่าวต่อว่า อนาคตของประเทศไทย หากเกิดการประกาศพบโรค ASF ในสุกร เมื่อถึงเวลานั้นจริงๆ สถานการณ์การระบาดของโรค ASF ในสุกรประเทศไทยจะได้รับผลกระทบมาก หากโรคเกิดกับฟาร์มสุกรรายใหญ่ จะรุนแรง แพร่เร็ว กระจายวงกว้าง แต่ถ้าโรคเกิดกับฟาร์มสุกรรายเล็ก จะไม่สามารถจุดชนวนให้เกิดการระบาดใหญ่ได้ ถ้าโรคนี้ไม่เกิดการระบาดใหญ่ที่มาจากฟาร์มใหญ่ ไทยจะรอดพ้นจากวิกฤตโรค ASF ในสุกร อย่างแน่นอน


วันนี้เจ้าของฟาร์มพัฒนาไม่หยุดนิ่ง ต่างอุตสาหะคิดค้นสิ่งต่าง ๆ ในการเฝ้าระวังโรค ร่วมมือกัน รวมตัวกันเป็นภาคีนำพาความรู้ช่วยเหลือกัน รอดพ้นจากวิกฤตโรคนี้ไปด้วยกัน เป็นภาพที่สวยงาม ที่เรากระตือรือร้น ช่วยเหลือกัน ร่วมมือระดมทุน และพร้อมให้การศึกษาไปยังระบบฟาร์มรายเล็ก รายย่อย ภาครัฐ และเอกชนทำงานประสานงานกันได้เป็นอย่างดี เจ้าของฟาร์มทุกระดับมีความรู้ และเข้าใจโรคมากขึ้น ส่งผลให้การทำงานตามนโยบายการเฝ้าระวังโรคเป็นไปอย่างได้มีประสิทธิภาพ เมื่อเจ้าหน้าที่ทราบข้อมูล รู้สถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ได้เร็ว ก็จะสามารถทำงานได้เร็วมากขึ้น การ ควบคุมสถานการณ์ก็จะเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ


อย่างไรก็ดี ทุกฝ่ายยังคงต้องให้ความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง คอยส่งข่าวคราวของโรคอย่าได้ปกปิด ต้องช่วยเหลือกัน หากพบความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต้องแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ เพื่อให้สถานการณ์ของโรคจบตั้งแต่ต้นทาง ควบคุมโรคให้อยู่เพียงแค่จุดเล็กๆ ไม่ให้ขยายเป็นวงกว้าง ทุกฝ่ายต้องร่วมมือ เดินทางไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อรอดพ้นวิกฤตโรค ASF ในสุกร


“ถ้ารอดพ้นจากวิกฤตโรค ASF ในสุกร เชื่อมั่นได้ว่าจะเป็นโอกาสที่ดีอย่างมาก แต่การจะอยู่รอดได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความเข้มงวดในการเฝ้าระวังป้องกันโรค โรคนี้เป็นโรคที่คาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นแบบไหน มารูปแบบใด และจะเกิดขึ้นกับใคร การคาดการณ์ทางธุรกิจจึงทำได้ยาก ทุกฟาร์มต้องเฝ้าระวังป้องกัน ยกระดับมาตรฐานฟาร์มของตัวเอง และเข้มงวดกับระบบไบโอซีเคียวริตี้ วันนี้หากเกิดโรค ASF ในสุกรระบาด ผมมั่นใจว่าจะมีฟาร์มที่ดำเนินธุรกิจฟาร์มเป็นระบบจำนวนประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ รอดพ้นจากวิกฤตโรค ASF ในสุกร ซึ่งฟาร์มเหล่านี้ส่วนใหญ่ต่างให้ความสำคัญกับกระบวนการเฝ้าระวังโรค เน้นมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพ ลดปัญหา และจุดเสี่ยงการเข้ามาของเชื้อโรค



ภาพแสดงช่องทางความเสี่ยงการระบาดของโรค ASF ในสุกร


ตัวอย่างเช่น การสร้างจุดขาย สร้างโรงเรือน จัดการพื้นที่ขาย มีพื้นที่ส่วนกลางในการขายโดยจะไม่ให้รถจากนอกพื้นที่ไปจับหมูถึงหน้าฟาร์ม จัดกระบวนการขนส่งในฟาร์ม โดยรวบรวมสุกรขุนจากแต่ละโรงเรือนมายังจุดขายกลาง แต่ละขั้นตอนป้องกันโรคอย่างดี ด้วยการทำความสะอาดรถขนส่ง พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค รวมถึงคนทำงานที่เกี่ยวข้องทุกหน้าที่ต้องสะอาด อุปกรณ์ฟาร์ม ต้องปราศจากการปนเปื้อนเชื้อ ป้องกันทุกช่องทางเพื่อไม่ให้เชื้อโรคเข้าไปสัมผัสสุกรรโดยตรง” ผศ.น.สพ.คัมภีร์กล่าว



ปรับพื้นเปลี่ยนเป็นพื้นคอนกรีตง่ายต่อการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค

ผศ.น.สพ.คัมภีร์กล่าวต่อว่า อาหาร และวัตถุดิบอาหารสัตว์ ที่ใช้ในฟาร์มก็เช่นเดียวกัน ถือเป็นช่องทางความเสี่ยงในการนำพาเชื้อโรคเข้าฟาร์ม วันนี้เจ้าของฟาร์มให้ความสำคัญ และตระหนักถึงมากขึ้น เพราะเชื้อโรค ASF ในสุกร สามารถปนเปื้อนมาได้กับวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อ และกระดูกป่น รวมถึงวัตถุดิบชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ข้าวโพด รำ ปลายข้าว กากถั่วเหลือง ปลาป่น ก็อาจจะปนเปื้อนจากกระบวนการผลิต และการขนส่งก่อนที่จะนำมาใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ได้



ภาพตัวอย่างการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อส่วนหนึ่งของมาตรการ ระบบ Biosecurity


“ประเด็นนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่ฟาร์มต้องเฝ้าระวังไม่ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีแหล่งที่มาจากประเทศ หรือพื้นที่ที่เกิดโรค ต้องมั่นใจว่ามาจากผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือได้ กระบวนการผลิตต้องได้มาตรฐานปลอดภัยจากการปนเปื้อนเชื้อ โรค ASF ในสุกร และโรคอื่น ๆ นอกจากฟาร์มจะได้อาหารสัตว์ที่ดีมีคุณภาพแล้วต้องปลอดภัยจากโรคด้วย ฟาร์มจะเพิกเฉย หรือละเลยไม่ได้ รวมถึงรถขนส่งอาหารสัตว์ที่คาดว่าจะเป็นพาหะนำพาเชื้อโรคเข้ามาในฟาร์ม เราต้องระมัดระวัง และดำเนินมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคตามระบบไบโอซีเคียวริตี้อย่างเคร่งครัด”ผศ.น.สพ.คัมภีร์กล่าวทิ้งท้าย


แทรก (Video Clip) Link :



203 views0 comments
bottom of page